วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

การนิมนต์ด้วยจิต


การนิมนต์ด้วยจิต
"เกี่ยวกับเรื่องราวความสามารถรับรู้วาระจิตคน ไม่ว่าอยู่ไกลเพียงไหน หรือแม้แต่อยู่คนละซีกโลกก็ตาม เรื่องเหล่านี้เคยได้ยินครูบาอาจารย์พูดกันอยู่มาก ระยะแรกๆ ผู้เขียน (คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต)เข้ามากราบ ท่านก็ไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องทำนองนี้เลย บ่อยครั้งที่รู้สึกแปลกใจว่า บางครั้งเราพูดกันอยู่อีกเมืองหนึ่งเหตุใดท่านจึงทราบ ระยะหลังก่อนท่านอาจารย์จวน (จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร) จะเสียชีวิต ท่านเคยอธิบายให้ฟังว่า การรับรู้หรือรับฟังนี้ อย่าว่าแต่จะพูดกันอยู่ในศาลานี้เลย ต่อให้พูดกันอีกเมืองหนึ่ง หรือแม้กระทั่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง ก็สามารถได้ยินหรือรับรู้วาระจิตนั้น ถ้าเผื่อกำหนดจิตให้รับทราบ ดังนั้นความสามารถทำนองนี้ของบรรดาครูบาอาจารย์ (บางองค์) จึงเป็นที่รู้และกลัวเกรงระมัดระวังของบรรดาเหล่าศิษย์ทั้งหลาย

สำหรับหลวงปู่ของเรา ความสามารถในเรื่องทำนองนี้ เป็นที่เลื่องลือกันเป็นอย่างมาก ในระยะแรกที่ผู้เขียนได้กราบท่าน ไม่ทันคิดถึงเรื่องนี้สักเท่าไร เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปนานแล้ว มานั่งคิดย้อนถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะการที่พูดถึงกันว่า การนิมนต์ด้วยจิต คือ เวลาจะนิมนต์หลวงปู่หรืออยากพบท่าน ไม่ต้องนิมนต์ด้วยปากดอก เพียงแต่เราคิดถึงท่านก็จะมาหา หรือบางทีเป็นภาพปรากฏขึ้น

ระยะแรกที่ผู้เขียนเริ่มรู้สึก คือ ครั้งหนึ่งจำไม่ได้แน่ชัดว่าเป็น พ.ศ. ไหน แต่เป็นปีต้น ๆ ที่เราเริ่มมีการจัดกฐินกัน เราดำริจะทอดกฐินที่วัดหลวงปู่ ผู้เขียน (คุณหญิงสุรีพันธุ์ ) หมายถึงวัดป่าสัมมานุสรณ์ ที่จังหวัดเลย ก่อนหน้านี้นั้น การทอดกฐินเป็นสิ่งที่พวกเราไม่ได้คิดไม่ได้ฝันมาก่อน ว่าจะต้องจัดทำกัน เมื่อมาเริ่มตั้งต้นด้วยกฐินที่วัดท่านอาจารย์วันในปี พ.ศ. 2519 แล้ว ก็ทำติดต่อกันมา โดยปีต่อมาเป็นวัดท่านอาจารย์จวน ปีถัดมาก็วัดป่าหนองแซงที่หลวงปู่หลุยจำพรรษาอยู่ต่อๆ เนื่องไป บางปีเป็นวัดหินหมากเป้ง แต่เราตั้งใจกันไว้ว่าจะไม่ทอดกฐินปีละหลายวัด เพื่อว่าปัจจัยที่หามาจะได้สามารถไปช่วยทะนุบำรุงพระศาสนา สำหรับวัดที่ไปทอดในปีนั้นๆ ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ดีกว่าแบ่งทอดกฐินหลายๆ วัด แล้วแบ่งไปวัดละนิดละหน่อย โดยจะจัดสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์อะไรก็ลำบาก

ปีนั้นตกลงกันว่าจะไปทอดกฐิน ณ วัดป่าสัมมานุสรณ์ โดยมีจุดประสงค์จะช่วยเรื่องงานก่อสร้างเจดีย์ของหลวงปู่ ที่ท่านว่าจะไว้เก็บอัฐิธาตุของท่านให้เสร็จลุล่วงไป เรียนถามท่านอาจารย์บัวคำ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น ท่านว่ายังต้องใช้เงินอีกราว 7-8 แสนบาท หลังจากนั้นจึงมีการกำหนดแผนงานกฐินขึ้นมา โดยมากกฐินของพวกเราที่ทำกันมาก็มักจะประกอบด้วย กฐิน 1 วัด ตามด้วยผ้าป่าอีก 5-6 วัด แต่ถึงเวลาเข้าจริง ๆ กลายเป็นทอดผ้าป่า 8-9 บางทีถึง 10 วัด แถมวัดโน่น วัดนี่ โดยเฉพาะตอนหลวงปู่หลุยยังอยู่ ท่านมักจะว่า เอ้า.....บังคับสุรีพันธุ์เอา บังคับเอา ให้ไปช่วยวัดโน้นวัดนี้ อะไรทำนองนี้ เป็นเรื่องที่สนุกสนาน ชื่นอกชื่นใจ ที่หลวงปู่บอกทางบุญให้เรา

เนื่องจากเราจัดไปทอดกฐิน-ผ้าป่าหลายวัด การเตรียมงานจะต้องมีการติดต่อให้ทราบก่อนว่า กฐินใหญ่จะต้องกำหนดวันที่ท่านว่างและอยู่วัด ทราบกำหนดของวัดใหญ่แล้วจะได้สามารถกำหนดรายการของวัดอื่นๆ และเส้นทางการเดินทางให้ต่อเนื่องกัน เวลานั้นผู้เขียนจึงอยากพบท่านเพื่อจะกราบเรียนถามถึงเรื่องนี้ คิดว่า เอ...ทำไงจะได้พบหลวงปู่ เราอยากพบท่านจะได้กราบเรียนถามท่านว่าว่างหรือเปล่า อยู่ๆ ก็มีเสียงโทรศัพท์มาถึงบอกว่า

"หลวงปู่ชอบมาถึงกรุงเทพฯ แล้วสั่งให้โทรฯ บอกสุรีพันธุ์"

ตอนนั้นไม่ทันเฉียวใจ ไปกราบท่านเวลาท่านมากรุงเทพฯ บางครั้งท่านมาพักที่ กม.27 บางครั้งท่านก็พักที่วัดอโศกการาม ผู้เขียนไปกราบท่านไม่ทันได้ฉุกคิด คิดว่าเป็นเหตุการณ์ประจวบเหมาะ บังเอิญอยู่เรื่อยๆ บังเอิญหลายๆ ครั้งเข้า เอ๊ะ มันไม่น่าจะบังเอิญ เราอยากพบท่านครั้งใด ท่านมักจะบังเอิญ ต้องลงมากรุงเทพฯ ให้โทรฯ มาตามสุรีพันธุ์ว่า ท่านมาถึงแล้ว ทุกครั้งที่เรามีธุระอยากจะกราบเรียนถามท่าน
เรื่องที่ต่อเนื่องและเห็นชัดเกี่ยวกับ การนิมนต์ทางจิต คือในปี 2535 เป็นปีแรกที่หลวงปู่เทสก์เตือนผู้เขียนว่า อายุล่วงไปมากแล้ว ควรงดการจัดทอดกฐิน ผ้าป่า ซึ่งเสียเวลาเตรียมการมาก หันมาภาวนาให้เป็นกิจจะลักษณะเสียที

ผู้เขียนเรียนท่านว่า งานสร้างศาลาภูทอกยังไม่เรียบร้อย เพราะศาลานี้สร้างสำหรับถวายพระราชกุศล เวลานั้นผู้เขียนอยากพบหลวงปู่ชอบตั้งใจจะนิมนต์ท่านมาเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระประธานที่ภูทอก ในวันที่ 23 ตุลาคม ปี 2535

วันหนึ่งซึ่งอยู่ในช่วงระยะที่ผู้เขียนไปจำพรรษาที่ วัดหินหมากเป้ง ได้ไปกราบอาจารย์ติ๊ก ที่วัดป่าห้วยลาด ซึ่งอยู่แถวภูเรือ จังหวัดเลย ขากลับคิดจะแวะวัดโคกมนเป็นเวลา 4 โมงกว่าเกือบ 5 โมง คุณอุดม ลัมกานนท์ ซึ่งไปกับผู้เขียนหันมาถามว่า
"พี่ไม่แวะไปกราบหลวงปู่ก่อนหรือ"
ตอนนั้นผู้เขียนเกรงว่าหากจะแวะโคกมน เราก็อดที่จะอ้อยอิ่งคุยกับท่านนาน คงกลับเข้าหินหมากเป้งไม่ทันเวลา 6 โมงเย็น ระยะนั้นที่วัดหินหมากเป้งมีระเบียบให้ปิดประตูใหญ่เวลา 6 โมงเย็น
คนที่อยู่ในวัดหากจะต้องไปธุระข้างนอก ต้องเข้าวัดให้ทันก่อนเวลาปิดประตู หากกลับเข้าวัดช้าอาจจะเป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก
วันนั้นผู้เขียนเลยตัดสินใจไม่แวะเข้าวัดโคกมน คุณอุดมถามอย่างสงสัยว่า
"แล้วพี่จะนิมนต์หลวงปู่ได้ยังไง ท่านอาจารย์ติ๊กก็กำชับมา ให้พี่นิมนต์หลวงปู่ชอบไปเป็นประธานงานเททองให้ได้"
ผู้เขียนตอบเล่นๆ

"ไม่เป็นไร นิมนต์หลวงปู่ทางจิตก็ได้ นิมนต์ขอให้ท่านมาพบเราที่วัดหินหมากเป้ง"

สองวันต่อมา ขณะที่ผู้เขียนกำลังเดินจงกรมภายในกุฏิที่วัดหินหมากเป้ง กุฏิที่หลวงปู่เทสก์ได้เมตตาอนุญาตให้สร้างขึ้น โดยท่านเป็นผู้เลือกที่ให้อยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำโขง ไว้สำหรับเป็นที่พักภาวนา มีเสียงเคาะประตูดังขึ้น ผู้เขียนเปิดประตูออกไปดู แม่ชีคนหนึ่งมาขอพบ พอถามว่ามีธุระอะไร
แม่ชีบอกว่า "มาจากโคกมน หลวงปู่ให้มาล่วงหน้ามาบอกคุณหญิงว่าเดี๋ยวท่านจะมา"

ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจ "หลวงปู่มาเยี่ยมหลวงปู่เทสก์"
แม่ชีตอบ "ใช่ ท่านให้แม่ชีมาบอกคุณหญิงก่อน"
ผู้เขียนซักต่อ "แล้วหลวงปู่มาได้ยังไงละ"
ก็ได้คำตอบว่า "มากันรถหลายคัน ส่วนคันที่แม่ชีนั่งมาเป็นคันหน้ามาถึงก่อน"
ผู้เขียนรู้สึกตกใจ จำได้ว่าเป็นวันที่ 1 สิงหาคม เพียงสองวันหลังจากวันที่เกือบจะแวะวัดโคกมน!
เทวดามากราบรูปหลวงปู่
"หลวงปู่จะมาวัดหินหมากเป้ง....
ก่อนอื่นคงต้องรีบไปเรียนหลวงปู่เทสก์ให้ท่านทราบก่อน เพื่อเตรียมต้อนรับหลวงปู่ชอบ ตัวผู้เขียน คิดว่านับเป็นโอกาสพิเศษ อันเป็นมงคลยิ่งที่หลวงปู่ทั้งสองท่านจะมาพบกัน ควรที่จะบอกต่อ ๆ ให้คนอื่น ๆ ในวัดได้ทราบด้วย

ผู้เขียนก็รีบไปบอกพรรคพวกใครต่อใครให้ทราบกัน แล้วนึกขึ้นได้ เอ๊ะ แม่ชีที่มาบอกข่าวหายไปไหน อยากคาดคั้นถามให้แน่ใจอีกสักครั้ง เพราะเกิดลังเลว่า จะเชื่อคำบอกของแม่ชีคนนั้นได้แค่ไหน เกิดถ้าหลวงปู่ไม่มาอย่างที่บอกล่ะ อารามตื่นเต้นกับข่าวนี้ เรารีบบอกคนโน้นคนนี้ให้ทราบกันหมด ก็ถ้าหลวงปู่ไม่มาละ เพื่อนฝูงคงหาว่าเป็นเด็กเลี้ยงแกะ แต่ถึงอย่างไรก็ตัดใจว่าคงเชื่อถือได้ ไม่น่าจะเป็นข่าวเท็จ
เพียงชั่วครู่เดียวก็ทราบกันไปทั้งวัด ผู้เขียนรีบไปกราบเรียนหลวงปู่เทสก์ว่า โอกาสอย่างนี้หาได้ยากเป็นโอกาสพิเศษ ขอโอกาส ขออนุญาต หากล้องมาถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก หลวงปู่เทสก์ยิ้มอย่างเมตตา ท่านเห็นด้วยให้ไปหากล้องถ่ายรูปมา เรียนถามท่านว่า จะให้ใครเป็นผู้ถ่ายรูปดี หลวงปู่เทสก์ตอบผู้เขียนว่า
"คุณนั่นแหละเป็นคนถ่าย"

สักประเดี๋ยว หลวงปู่ชอบก็มา ชาววัดหินหมากเป้งทุกคนตื่นเต้นดีใจ แต่งตัวห่มผ้ามารอที่กุฏิเพื่อกราบหลวงปู่ ต่างชื่นอกชื่นใจที่เห็นภาพหลวงปู่ทั้งสองมาพบกัน ตัวผู้เขียนถ่ายรูปเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกกระทั่งฟิล์มหมดม้วน ด้วยความดีอกดีใจต่อภาพที่ท่านยิ้มหัวต่อกัน คุยทักทายกันอย่างร่าเริงล้อเลียนกัน โดยเฉพาะที่ท่านทักกันเรื่อง "ขาลาย" เลยทำให้แอบทราบความลับว่า หลวงปู่เทสก์ก่อนบวชท่านก็เคยไปสัก "ขาลาย" เช่นเดียวกับหลวงปู่ชอบ แต่คนไม่ค่อยรู้กัน

ภาพที่ถ่ายวันนั้น พอส่งฟิล์มไปล้าง ด้วยความปลาบปลื้มใจ ผู้เขียนสั่งอัดรูปอย่างละ 200 รูป 400 รูป มาแจกกันให้ทั่ววัด ต้องไปสั่งอัดถึงอุดรฯ และยังสั่งอัดรูปใหญ่อีก คิดจะเก็บไว้ถวายหลวงปู่
เกือบลืมเล่าไปว่า การมาวัดหินหมากเป้งคราวนั้น หลวงปู่ท่านพูดคล้ายกับว่า ที่นิมนต์มาท่านก็มาให้แล้ว มีธุระอะไร ผู้เขียนจึงถือโอกาสกราบนิมนต์ท่านไปเป็นประธานเททองหล่อพระที่ภูทอกในวันที่ 23 ตุลาคม

วันหนึ่ง ผู้เขียนเจอกับเหตุการณ์น่าประหลาดอีก หลังจากเสร็จจากการทำวัตรเย็น ฟังเทศน์ และต่อท้ายด้วยการเจริญภาวนาที่ศาลาใหญ่ราวๆสามทุ่มก็เลิก ต่างแยกย้ายกันกลับกุฏิ ผู้เขียนเดินกลับกุฏิ โดยขณะนั้น ใจยังคงรู้สึกอิ่มเอมจากการภาวนา ผู้เขียนมองไปทางริมโขง พลันให้ฉงนใจที่เห็นกุฏิหลังหนึ่งสว่างไสว ทีแรกตกใจเพราะเหมือนๆ กับกุฏิของผู้เขียนมาก คิดว่าเราเผลอเปิดไฟทิ้งไว้ ปกติที่หินหมากเป้ง จะใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัดมาก อย่างผู้เขียนเองจะเปิดไฟพอให้รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหนแล้วก็ปิด ใช้ไฟฉายส่องแทน เพราะไม่ต้องการใช้ไฟวัดอย่างฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ใช่เพราะกุฏิของเรามีสองหน้าต่าง แต่กุฏิที่กำลังเห็นมีสามหน้าต่าง ข้างในสว่างไสว ข้างนอกสว่างจ้า ราวกับมีใครเอาไฟสปอร์ตไลท์สาดส่องทั้งตัวบ้าน

ขณะที่ผู้เขียนกำลังจับตาจ้องมองภาพนั้น ไม่ได้หยุดเดินคงเดินไปช้าๆ จนกระทั่งเท้าสะดุดเอารากไม้เข้า เมื่อเงยหน้าอีกครั้งภาพกุฏิหลังนั้นหายวับไปแล้ว ผู้เขียนเดินต่อไปที่กุฏิที่พัก กุฏิผู้เขียนยังอยู่ในความมืด เพื่อพิสูจน์ให้แน่ใจ เลยลองเปิดไฟรอบบ้านทุกดวงให้สว่าง แต่ก็หาได้สว่างเท่ากับกุฏิหลังที่เห็นเมื่อกี้นี้ไม่ อีกอย่างหนึ่ง มุมที่ผู้เขียนสังเกตเวลาเดินมาจากศาลานั้น ปกติจะมองไม่เห็นกุฏิที่ผู้เขียนอยู่ เพราะมีกุฏิหลังอื่นบัง แต่ภาพที่เห็นเมื่อสักครู่ที่ผ่านมากลับเห็นชัดประหนึ่งไม่มีกุฏิ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาบดบังเลย

ทำให้นึกไปถึงเมื่อครั้งสร้างกุฏิหลังนี้ ตอนนั้นหลวงปู่เทสก์ท่านได้เมตตาช่วยเลือกแบบให้ ใจเราอยากทำหน้าต่างสามบาน แต่เนื่องจากกั้นทำห้องนอนสองห้อง จึงไม่อาจทำได้ ช่างทำไว้ให้แต่หน้าต่างสองบาน จำได้ว่าหลวงปู่ยังบอกว่า

"หน้าต่างถ้าไม่ชอบใจจะแก้ก็ได้นะ ให้เป็นหน้าต่างสามบาน"

ยังคิดแปลกใจว่า หลวงปู่ท่านทราบได้อย่างไรว่า เราอยากได้หน้าต่างสามบาน เพราะไม่เคยบอกเรื่องนี้กับท่านหรือใครเลย แต่ก็เรียนท่านไปว่า หลวงปู่เมตตาอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้นคงไม่ต้องแก้ไขอะไร
เป็นไปได้ไหมว่า การที่ใจเราอยากได้หน้าต่างสามบานกุฏิทิพย์ที่ปรากฏให้เห็นจึงมีหน้าต่างสามบาน หลวงปู่ชอบเคยบอกว่า เวลาพวกเทพมากันมากๆ แสงเทพจะสว่างไสวยิ่งกว่าเปิดไฟร้อยแรงเทียนหลายๆ ดวงพร้อมกัน หากเป็นแสงเทพจริงแล้ว เทพท่านมาที่กุฏิเรา ทำไม!

ทันใดก็นึกขึ้นมาได้ว่า ได้เอาภาพหลวงปู่สององค์ที่ท่านกำลังคุยกันมาขยายใหญ่ใส่กรอบ ตั้งบูชาไว้ที่กุฏิที่พักชะรอยเหล่าเทพทั้งหลายคงจะมากราบรูปหลวงปู่ที่เราตั้งไว้บูชาในนั้น เพราะตามประสบการณ์ของผู้เขียนเวลาเห็นภาพทำนองนี้สิ่งที่เห็นจะชัดเจน หากว่ามีอะไรที่มาบดบังขวางสายตาอยู่ข้างหน้า ก็คล้ายกับจะถูกมองทะลุผ่านไปลอยเด่นราวกับไม่มีอะไรบดบังอยู่เลย

รุ่งขึ้น ได้เล่าถวายหลวงปู่เทสก์เรื่องภาพกุฏินั้น เอารูปไปให้ท่านดูด้วยเรียนถามท่านถึงการที่กุฏิผู้เขียนสว่างไสว

"เข้าใจว่าเป็นเพราะมีเทวดามากราบรูปหลวงปู่ใช่ไหมเจ้าคะ"

ท่านทำหน้ายิ้มๆ ปกติหากเราเข้าใจไม่ถูกต้องหรือไม่ใช่แล้ว ท่านจะพูดปฏิเสธหรือทักท้วงคำพูดนั้นทันที ครั้นนำรูปนี้ไปเรียนถามหลวงปู่ชอบบ้าง

"ใช่ไหมเจ้าคะ เทวดาเขามากราบรูปหลวงปู่ทั้งสององค์ ถึงได้มีแสงสว่างเจิดจ้าอย่างมากมาย ยิ่งกว่าเราเปิดสปอร์ตไลท์ทั้งบ้านเสียอีก"

หลวงปู่อมยิ้มไม่ตอบ พูดถึงเทวดาที่หินหมากเป้ง ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปนั่งภาวนาบนพลาญหินริมฝั่งโขงภาวนาไปพักใหญ่ออกรู้สึกเมื่อยจึงลืมตาขึ้นมองไปบนฟ้า เห็นองค์หลวงปู่เทสก์ใหญ่ ใหญ่มากคลุมทั้งวัดหินหมากเป้ง บอกให้เพื่อนที่อยู่ใกล้ๆ ดู บางคนเห็น บางคนก็ไม่เห็น พอไปเล่าถวายหลวงปู่ท่านก็ยิ้มๆ ถามว่าเห็นเหมือนกันเรอะ แต่ท่านไม่ได้ปฏิเสธอะไร ธรรมดาถ้าคิดไม่ถูก ท่านจะบอกว่า คิดกันไปเอง หรืออะไรทำนองนั้น คราวนั้นท่านเพียงแต่ยิ้มๆแล้วเสริมว่า

"เอ้า....ภาวนาต่อไปให้ดีนะ"

อีกครั้งหนึ่ง ที่พลาญหินริมโขงเช่นกัน กำลังภาวนาไปสักสองชั่วโมง มีเวทนามาก เผลอลืมตามองไปทางมณฑปที่หลวงปู่อยู่ เห็นแสงที่ยอดไม้ เป็นวิมานเรือนยอดสวยมาก ธรรมดาก่อนหน้านี้ เวลาเราเห็นแสง จะเป็นแสงสีเดียว แต่แสงที่กำลังเห็นเป็นแสงหลายสี สีเขียว สีเหลือง สีแดง สุดท้ายเป็นแดงจัด แล้วปรากฏมีเทวดาเดินออกมาจากวิมานมาให้เราเห็น จำได้ว่าเครื่องแต่งกายเป็นสีแดงขลิบดำ ดูอยู่พักหนึ่งจึงบุ้ยใบ้ชี้มือให้เพื่อนคือ คุณชมศรี สุทธเชื้อนาค ดู คุณชมศรีแต่แรกไม่เห็น ต่อมาก็เห็นภายหลังมาเล่ากัน เธอบอกว่าเป็นแสงสีขาวสีเดียว ไม่เป็นหลายสีอย่างผู้เขียนเห็น
เมื่อเล่าถวายให้หลวงปู่ฟัง ท่านว่า

"คุณสุรีพันธุ์เห็นวิมานเทวดา"
เรียนท่านว่า
"ทำไมสวยมาก"
ท่านชี้มือไปที่ต้นมะม่วงใกล้กับอีกต้น
"ต้นนี้ก็มีเทวดา"
แล้วชี้ไปที่ต้นอื่นๆอีกหลายต้น
"ต้นนั้น ก็มี"
หรือบางวันมองมาทางมณฑป ก็ให้นึกแปลกใจ

"เอ๊ะ..ทำไมวันนี้ท่านเปลี่ยนม่านไปแล้ว เป็นสีเขียวเรืองสวย เขียวอมฟ้าสวยมาก เมื่อวานเราก็ไม่ทันสังเกต"

พอรุ่งขึ้นเช้ามามองอีกที
"อ้าว ก็ม่านอันเก่านี่ เป็นม่านสีเหลืองซีดๆ อย่างเก่า"
พอไปเล่าถวายให้ท่านฟัง
"หนูนึกว่าหลวงปู่ให้เปลี่ยนม่าน พอไปดูวันรุ่งขึ้นกลับเป็นม่านอันเก่า"

เรียนท่านเพิ่มเติมว่า การเห็นทั้งหมดนี้เป็นการเห็นด้วยตาเนื้อ ไม่ได้เห็นในนิมิตร คือตาเห็น ๆ นี่แหละ
หลวงปู่เทสก์ท่านอธิบายว่า เป็นอำนาจของสมาธิ คือก่อนหน้านั้นเราทำสมาธิ แม้เมื่อลืมตาแล้ว จิตก็ยังทรงอยู่ในสมาธิอีกระดับหนึ่ง จึงเห็นภาพที่ภพภูมิของมนุษย์ธรรมดามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า


คัดลอกจาก "ฐานสโมปูชา" ของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต แต่ละตอนนั้นอ่านแล้วติดใจ เพราะทั้งสนุกและได้รับความรู้ไปในตัว ดังเช่นตอนต่อไปนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น